ประวัติ ของ ดัชชีลิมบืร์ค (ค.ศ. 1839–1867)

การก่อตั้ง

สืบเนื่องจากการต่อตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาใน ค.ศ. 1815 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มรัฐเยอรมันทั้ง 39 รัฐเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐในสมาชิก[1] โดยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งตลาดร่วมในรัฐสมาชิกในระหว่าง ค.ศ. 1818–1834 ถึงแม้ดัชชีลิมบืร์คจะไม่ได้เป็นสมาชิกก่อตั้งของสมาพันธรัฐเยอรมัน แต่ได้เข้าร่วมกับสมาพันธ์ใน ค.ศ. 1839 ภายหลังจากการปฏิวัติเบลเยียมซึ่งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1830 โดยการรวมกลุ่มของเสรีชนและชาวคาทอลิก เพื่อแยกเบลเยียมให้เป็นอิสระจากการปกครองของเนเธอร์แลนด์

ผลของสนธิสัญญาลอนดอน (ค.ศ. 1839) ซึ่งทำให้กษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์จะต้องยกดินแดนฝั่งตะวันตกของลักเซมเบิร์กให้กับเบลเยียม โดยลักเซมเบิร์กในขณะนั้นถือเป็นรัฐสมาชิกในสมาพันธรัฐเยอรมัน ภายหลังการเสียดินแดนให้เบลเยียมทำให้สูญเสียจำนวนประชากรถึง 150,000 คน สมาพันธรัฐเยอรมันจึงยืนกรานให้เนเธอร์แลนด์ชดใช้ดินแดนส่วนอื่นให้แทน จึงเป็นต้นกำเนิดของดัชชีลิมบืร์คซึ่งประกอบด้วยจังหวัดลิมบืร์ค(เดิม) แต่ไม่รวมถึงเขตเมืองมาสทริชท์และเวนโล เพื่อให้พอดีกับจำนวนประชากรที่เสียไป[2]

การล่มสลาย

สงครามออสเตรีย-ปรัสเซียใน ค.ศ. 1866 นำไปสู่การล่มสลายของสมาพันธรัฐเยอรมัน เพื่อที่จะจัดการกับสถานะของลักเซมเบิร์กและดัชชีลิมบืร์คซึ่งถือเป็นดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์มาก่อนและยังถือเป็นรัฐสมาชิกของสมาพันธรัฐเยอรมันด้วยนั้น สนธิสัญญาลอนดอน (ค.ศ. 1867) ยืนยันว่าดัชชีลิมบืร์คเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่ลักเซมเบิร์กเป็นรัฐอิสระแบบมีประมุขร่วมกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ ค.ศ. 1839 เป็นต้นมา

นามของดัชชีลิมบืร์คยังมีที่ใช้ในทางการจนถึงช่วง ค.ศ. 1907 มรดกที่ตกทอดมาในสมัยนี้รวมถึงการเรียกตำแหน่งผู้สำเร็จราชการสำหรับลิมบืร์คว่า "ผู้ว่าราชการ" แทน